Wollstonecraft, Mary (1759–1797)

นางแมรี วุลสโตนคราฟต์ (พ.ศ. ๒๓๐๒–๒๓๔๐)

 แมรี วุลสโตนคราฟต์เป็นนักปรัชญาการเมืองและนักประพันธ์ชาวอังกฤษในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ งานเขียนของเธอเรียกร้องให้สตรีได้รับสิทธิทางการเมืองและสังคม และมีโอกาสศึกษาเฉกเช่นเดียวกับบุรุษ เพราะการศึกษาจะทำให้สตรีสามารถแสดงศักยภาพอย่างมีคุณภาพและมีคุณค่าต่อสังคม ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอาชีพหรือมีบทบาทเพียงในครอบครัวอย่างที่สังคมปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ คาดหวังอย่างไรก็ดี การดำเนินชีวิตของวุลสโตนคราฟต์ที่ผิดจากจารีตของสตรีสมัยนั้นดูโลดโผนในสายตาของคนร่วมสมัยและก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ผู้คนจึงสนใจเรื่องราวชีวิตของเธอมากกว่าผลงานและมองข้ามสาระในแนวคิดที่เธอสื่อสารออกมาเป็นเวลานาน ในทศวรรษ ๑๙๘๐ วุลสโตนคราฟต์ได้รับยกย่องว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีชาวอังกฤษรุ่นบุกเบิก

 วุลสโตนคราฟต์เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๗๕๙ ที่บ้านบนถนนพริมโรส (Primrose Street) ในย่านสปิทัลฟีลส์ (Spitalfields) กรุงลอนดอน เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวน ๗ คนของเอดเวิร์ด จอห์น วุลสโตน-คราฟต์ (Edward John Wollstonecraft) ช่างทอผ้าเช็ดหน้า และเอลิซาเบทดิกซัน (Elizabeth Dixon) ซึ่งมีเชื้อสายไอริช ปู่เป็นนายช่างทอผ้าที่ทิ้งมรดกจำนวนไม่น้อยให้แก่ทายาท แต่บิดาของเธอล้มเหลวในการลงทุนทำการเกษตร และพาครอบครัวโยกย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ นับตั้งแต่เอปปิง (Epping) บาร์กิง (Barking) เบเวอร์ลีย์ (Beverley) ฮอกซ์ตัน (Hoxton) วัลเวิร์ท (Walworth) และลาร์น (Laugharne) ในแคว้นเวลส์จากนั้นก็วกกลับมากรุงลอนดอนอีกฐานะของครอบครัวก็ยากจนลงตามลำดับจนทำให้เอดเวิร์ด (Edward) เป็นบุตรเพียงคนเดียวที่ได้รับการศึกษาในระบบจนสำเร็จการศึกษาและได้ประกอบอาชีพทนายความ ส่วนพี่น้องคนอื่นๆเรียนหนังสือที่บ้านนอกจากไม่สามารถเพิ่มพูนทรัพย์สินที่ได้รับส่วนแบ่งจากมรดกและยังทำให้ร่อยหรอลงจนครอบครัวอัตคัดแล้ว เอดเวิร์ด จอห์นวุลสโตนคราฟต์ยังเป็นคนขี้โมโห ชอบวางอำนาจและทุบตีภรรยาเป็นประจำเมื่อเมาสุรา ตอนวัยรุ่นแมรีจึงมักจะนอนอยู่หน้าห้องนอนของมารดาบ่อยครั้งเพื่อปกป้องมารดา

 ความไม่พอใจในพฤติกรรมของบิดา วุลสโตนคราฟต์จึงตัดสินใจออกไปดำเนินชีวิตด้วยตนเองใน ค.ศ. ๑๗๗๘ ขณะมีอายุ ๑๙ ปีโดยรับงานเป็นผู้ติดตามดูแลซาราห์ดอว์สัน (Sarah Dawson) สตรีม่ายสูงวัยที่ค่อนข้างเจ้าอารมณ์ที่เมืองบาท(Bath)แต่งานนี้ไม่ถูกกับอุปนิสัยของเธอเลยต่อมาอีก๒ปีเธอจึงกลับบ้านเพื่อพยาบาลมารดาที่ล้มป่วยและเสียชีวิตในที่สุดหลังจากนั้นไม่นานบิดาก็แต่งงานใหม่วุลสโตนคราฟต์ก็ย้ายเข้าไปพักกับครอบครัวของแฟนนี(ฟรานซิส)บลัด[Fanny(Frances) Blood] เพื่อนสนิท โดยช่วยมารดาของแฟนนีทำงานเย็บปักถักร้อยขณะที่แฟนนีวาดรูปภาพสีน้ำ ใน ค.ศ. ๑๗๘๓ ความรู้สึกอยากปกป้องน้องสาวทำให้เธอช่วยอิไลซา (Eliza) หนีจากเมเรอดิท บิชอป (Meredith Bishop)สามีที่มักทำร้ายร่างกายภรรยาไปหลบซ่อนตัวจนกระทั่งสามารถแยกกันอยู่ได้ตามกฎหมายแต่การที่อิไลซาทิ้งสามีและลูกทำให้เธอถูกสังคมตำหนิติเตียนและเมื่อไม่ได้สมรสอีก เธอจึงต้องยังชีพอย่างยากจนและทำงานหนักไปตลอด ในปีต่อมาวุลสโตนคราฟต์อิไลซา และบลัด ได้ช่วยกันเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงที่นิววิงตันกรีน (Newington Green) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆใกล้เขตแฮกนีย์(Hackney)ทางเหนือของกรุงลอนดอนเพื่อเป็นการหาเลี้ยงชีพณที่นี้วุลสโตน-คราฟต์ได้มีโอกาสรู้จักกับริชาร์ด ไพรซ์ (Richard Price)ซึ่งเป็นศาสนาจารย์ประจำโบสถ์ในท้องถิ่นและโจเซฟพรีสต์ลีย์ (Joseph Priestley) ศาสนาจารย์นิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterianism) ทั้งสองอยู่ในกลุ่มนักคิดหัวรุนแรงที่ต้องการการปฏิรูปการเมือง

 การไปร่วมในวงสนทนาที่บ้านไพรซ์ทำให้วุลสโตน-คราฟต์ได้พบกับโจเซฟจอห์นสัน(Joseph Johnson) เจ้าของสำนักพิมพ์ย่านมหาวิหารเซนต์พอล (St.Paul) ซึ่งประทับใจแนวความคิดของเธอในเรื่องการศึกษาซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากประสบการณ์การสอนในโรงเรียนที่นิวอิงตันกรีนและจากการไปทำงานกับดอว์สัน จอห์นสันจึงจ้างให้เธอเขียนหนังสือแสดงความเห็นเรื่องการศึกษาของเด็กหญิงและสตรี เรื่อง Thoughts on the Education of Girls (Daughters): with Reflections on Female Conduct in the more important Duties of Life (ค.ศ. ๑๗๘๖) หนังสือเรื่องนี้โจมตีวิธีการสอนเด็กผู้หญิงแบบที่เป็นอยู่และได้เสนอหัวข้อใหม่ ๆ ที่ควรสอนให้นักเรียนหญิงได้รับรู้ ต่อมาไม่นานบลัดแต่งงานกับฮิวสกีส์ (Hugh Skeys) ซึ่งมีอาชีพพ่อค้าและติดตามเขาไปโปรตุเกสเพื่อฟื้นฟูสุขภาพตนที่เปราะบาง กิจการของโรงเรียนที่ร่วมกันเปิดสอนมีท่าทีว่าต้องล้มเลิกเมื่อวุลสโตนคราฟต์ถูกตามตัวไปโปรตุเกสเพื่อพยาบาลบลัดซึ่งในที่สุดเสียชีวิตจากการคลอดบุตรก่อนกำหนดใน ค.ศ. ๑๗๘๕ เพื่อนสาวคนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่บันดาลใจให้เธอเขียนเรื่อง Mary: A Fiction ในเวลา ๓ ปีต่อมา โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับตัวละครหญิงที่ถูกบังคับให้เข้าสู่การแต่งงานด้วยเหตุผลทางการเงินโดยไม่มีพื้นฐานความรัก เธอจึงต้องชดเชยความปรารถนาในความรักด้วยการปลูกฝังมิตรภาพที่แนบแน่นหวือหวากับบุคคล ๒ คน รายหนึ่งเป็นผู้ชายและอีกรายเป็นผู้หญิง

 ความเศร้าโศกกับการจากไปของเพื่อนรักและการต้องล้มเลิกโรงเรียนด้วยปัญหาการเงินหลังกลับจากโปรตุเกสทำให้วุลสโตนคราฟต์หันไปทำงานเป็นครูสอนตามบ้าน (governess) ให้แก่ครอบครัวคิงส์บะระ (Kingsborough) ที่ไอร์แลนด์ แต่ไม่นานก็เห็นว่าการทำงานตามบ้านไม่เหมาะกับเธอ วุลสโตนคราฟต์มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับเลดีคิงส์บะระ แต่เข้ากันได้ดีกับเด็ก ๆ ซึ่งต่อมาทำให้วุลสโตนคราฟต์ได้ข้อมูลมาเขียนหนังสือเด็กเรื่อง Original Stories from Real Life (ค.ศ. ๑๗๘๘) เธอกลับมายังกรุงลอนดอนอีกครั้งและพักอยู่ที่ถนนจอร์จ (George Street) ด้วยความรู้สึกคับแค้นใจกับหนทางอาชีพที่จำกัดสำหรับผู้หญิงดี ๆ แต่ไม่มีทรัพย์สมบัติซึ่งเธอได้บรรยายออกมาในบทที่ชื่อว่า “Unfortunate Situation of Females, Fashionably Educated, and Left Without a Fortune” ในหนังสือ Thoughts on the Education of Daughters เธอจึงยึดอาชีพนักเขียนซึ่งนับว่าเป็นการตัดสินใจที่กล้าบ้าบิ่นเพราะสมัยนั้นแทบไม่มีสตรีคนใดสามารถดำรงชีพได้ด้วยการเขียนหนังสือวุลสโตนคราฟต์เรียนภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสและทำงานเป็นนักแปลงานเขียน เช่น Of the Importance of Religious Opinions ของ ชาก เนแกร์ (Jacques Necker)* Elements of Morality, for the Use of Children ของคริสเตียนกอททิลฟ์ซัลซ์มันน์ (Christian Gotthilf Salzmann) และ Young Grandison ของมาดาม เดอก็องบง (Madame de Cambon) และเป็นที่ปรึกษาด้านหนังสือให้สำนักพิมพ์ของจอห์นสันซึ่งมีชื่อด้านการผลิตงานเขียนที่แสดงแนวคิดรุนแรง นอกจากนี้วุลสโตนคราฟต์ยังเขียนบทวิจารณ์นวนิยายเผยแพร่ใน Analytical Review ซึ่งเป็นวารสารที่เธอกับจอห์นสันช่วยกันเริ่มจัดทำขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๘๘ นอกจากนั้น ผลงานรวมเรื่อง The Female Reader; Miscellaneous Pieces in Prose and Verse; Selected from the Best Writers and Disposed under Proper Heads; for the Improvement of Young Women ก็ได้พิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๗๘๙ แต่วุลสโตนคราฟต์ยังปกปิดความเป็นสตรีโดยใช้นามแฝงว่า มิสเตอร์เครสวิก ครูสอนศิลปะการพูด (Mr. Cresswick, teacher of Elocution)

 การมาทำงานกับจอห์นสันทำให้สังคมของวุล-สโตนคราฟต์ขยายวงกว้างเช่นเดียวกับความสนใจทางด้านภูมิปัญญา ช่วงนี้เองที่เธอได้พบกับวิลเลียมก็อดวิน (William Godwin) นักปรัชญาการเมืองซึ่งเป็นสามีเธอในเวลาต่อมา การรู้จักกันในช่วงแรกนี้ทั้งคู่ถกเถียงและขัดแย้งกันทางความคิด ขณะนั้นวุลสโตนคราฟต์มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งอยู่กับเฮนรีฟูเซลี (Henry Fuseli) จิตรกรอังกฤษเชื้อสายสวิสและนักประวัติศาสตร์ศิลป์ซึ่งสมรสแล้วกับโซเฟีย รอว์ลินส์ (Sophia Rawlins) นางแบบในภาพวาดของเขา ฟูเซลีเคยวาดภาพวุล-สโตนคราฟต์ด้วย ในที่สุดความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับฟูเซลีสิ้นสุดลง เมื่อวุลสโตนคราฟต์เสนอว่าจะย้ายเข้าไปอยู่ร่วมกับครอบครัวของฟูเซลีโดยมีความสัมพันธ์ฉันเพื่อนเท่านั้น แต่รอว์ลินส์ซึ่งวัยใกล้เคียงกับวุล-สโตนคราฟต์และอ่อนกว่าฟูเซลีราว ๒๐ ปีตื่นตกใจกับความคิดดังกล่าวและไม่ยินยอม

 เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* ไพรซ์ได้เทศนาสรรเสริญการปฏิวัติและแสดงทัศนะว่าชาวอังกฤษก็สามารถถอดกษัตริย์จากบัลลังก์ได้เช่นเดียวกับชาวฝรั่งเศสเอดมัน เบิร์ก (Edmund Burke)* นักปรัชญาและสมาชิกสภาสามัญตอบโต้ทัศนะนี้ด้วยการเขียนReflections on the Revolution in France ซึ่งปกป้องสถาบันกษัตริย์วุลสโตนคราฟต์โกรธเคืองที่เบิร์กซึ่งเคยโต้เถียงแทนชาวอาณานิคมอเมริกันกลับมาโจมตีการปฏิวัติฝรั่งเศสในคราวนี้ และการดูหมิ่นไพรซ์ก็ทำให้เธอขุ่นเคืองใจมากและต้องการโต้เถียงแทน จึงเขียนจุลสารเรื่อง A Vindication of the Rights of Man ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๙๐ ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกไม่เปิดเผยชื่อ แต่มาเปิดเผยในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ กลางเดือนธันวาคมต่อมา ในงานเขียนชิ้นนี้เธอไม่เพียงแต่กล่าวปกป้องไพรซ์ แต่ยังชี้ให้เห็นข้อบกพร่องที่เป็นอยู่ในสังคม เช่น การค้าทาส การปฏิบัติต่อคนจนอย่างไม่สมควร ความคิดเห็นของเธอเห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลจากปัญญาชนช่วงเวลานั้นซึ่งเป็นสมัยแห่งภูมิธรรม (Enlightenment) เธอเชื่อในประเด็นความก้าวหน้าของสังคม จึงดูแคลนที่เบิร์กเน้นเรื่องจารีตและประเพณีเธอกล่าวว่าระบบที่เบิร์กสนับสนุนจะทำให้การเป็นทาสยังดำเนินต่อไปเพียงเพราะว่าเป็นจารีตมาแต่สมัยบรรพบุรุษ เมื่อจุลสารนี้เผยแพร่ก็เป็นที่สนใจของนักคิดหัวรุนแรงคนอื่น ๆ เช่น ทอมัส เพน (Thomas Paine)* จอห์น คาร์ตไรต์ (John Cartwright) ก็อดวิน วิลเลียม เบลก (William Blake)

 สองปีหลังจากออกผลงานสำคัญเล่มแรกชื่อ A Vindication of the Rights of Man เธอก็พิมพ์ผลงานที่ต่อมาถือกันว่าเป็นชิ้นสำคัญที่สุดของเธอ คือ A Vindication of the Rights of Woman: with Strictures on Political and Moral Subjects ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาร์ล โมริซ เดอ ตาเลรอง-เปรีกอร์ (Charles Maurice de Talleyrand-Périgord)* นักการเมืองและนักการทูตคนสำคัญของฝรั่งเศสเดินทางมาอังกฤษ เธอจึงอุทิศการพิมพ์ครั้งที่ ๒ ให้แก่เขา ในงานเขียนชิ้นนี้นอกจากขยายความประเด็นที่เธอหยิบยกขึ้นในงานเขียนชิ้นก่อน เธอโจมตีข้อจำกัดทางการศึกษาที่ตีกรอบทำให้ผู้หญิงต้องตกอยู่ในสภาวะโง่เขลาและไม่สามารถพึ่งตนเองได้ เธอวิพากษ์สังคมที่ต้องการเห็นผู้หญิงเป็นบุคคลที่ว่าง่ายและสนใจรูปลักษณ์ของตนจนละเลยสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมด การจำกัดวิถีชีวิตผู้หญิงให้อยู่ในขอบเขตทำให้พวกเธออัดอั้นและอาจแปรเปลี่ยนเป็นบุคคลที่กดขี่บุตรและคนรับใช้ในบ้านได้ ทางออกคือต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อเปิดทางให้ผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาที่ทัดเทียมกับผู้ชาย การศึกษาของสตรีที่เป็นอยู่นั้นไม่สามารถทำให้ผู้หญิงมีคุณสมบัติตามที่สังคมคาดหวังและแทบจะประกันได้ว่าพวกเธอจะมีชีวิตที่ไร้ความสุข ในส่วนที่เกี่ยวกับการสมรส เธอกล่าวว่าการสมรสเปรียบเหมือนการเป็นโสเภณีที่ถูกกฎหมายและเสริมว่าสตรีก็เสมือนทาสที่สนองต่อความสะดวก แต่อันที่จริงสภาวะทาสเช่นนี้เป็นการลดคุณค่าทั้งของผู้เป็นนายและทั้งทาสที่น่าสงสาร และในกรณีทั่วไป การสมรสเป็นการตกลงในเรื่องของทรัพย์สินเท่านั้น ทัศนะที่แสดงออกมาของวุลสโตนคราฟต์ก่อเสียงขัดแย้งอย่างครึกโครม นอกจากนี้เธอยังเขียนเรื่อง Maria หรือ The Wrongs of Woman ซึ่งยืนยันว่าผู้หญิงมีความปรารถนาทางเพศที่แรงกล้า การเสแสร้งว่าไม่จริงยิ่งเป็นการไม่ถูกต้องและทำให้ดูตกต่ำลงมากกว่า ผู้วิจารณ์งานของเธอในเวลาต่อมาเห็นว่างานชิ้นหลังนี้เพียงชิ้นเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เธอถูกประณามตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙

 หลังประสบความสำเร็จจากงานเขียนเรื่อง A Vindication of the Rights of Man ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนด้านการเมืองกอปรกับความอึดอัดใจจากการต้องตัดสัมพันธ์กับฟูเซลี วุลสโตนคราฟต์จึงตัดสินใจเดินทางไปฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๒ เพื่อสังเกตเหตุการณ์การปฏิวัติด้วยตนเองซึ่งเป็นช่วงก่อนที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI)* จะทรงถูกสำเร็จโทษด้วยกิโยตีน ที่กรุงปารีสเธอได้มีโอกาสพบกับกิลเบิร์ต อิมเลย์ (Gilbert Imlay) นักธุรกิจค้าไม้และนักแสวงโชคชาวอเมริกันซึ่งเป็นกลุ่มคณะทูตอเมริกันประจำฝรั่งเศสในขณะนั้น เธอหลงรักเขาและมีความสัมพันธ์กันโดยไม่ได้มีการแต่งงานจนเธอคลอดแฟนนี อิมเลย์ (Fanny Imlay) บุตรสาวคนแรกใน ค.ศ. ๑๗๙๔ ที่เมืองเลออาฟร์ (Le Havre) แฟนนีเป็นชื่อที่วุลสโตนคราฟต์ตั้งให้บุตรสาวเพื่อเป็นการรำลึกถึงเพื่อนรักที่เคยก่อตั้งโรงเรียนร่วมกัน เธอดีใจกับการได้เป็นมารดาและยังคงทำงานเขียนต่อไป โดยในปีเดียวกันนี้ได้ตีพิมพ์เรื่อง An Historical and Moral View of the Origin and Progress of the French Revolution แต่เมื่อเหตุการณ์ในฝรั่งเศสดำเนินไปจนอังกฤษตัดสินใจประกาศสงครามกับฝรั่งเศส อิมเลย์เห็นว่าสถานการณ์อาจเป็นภัยต่อวุลสโตนคราฟต์ เขาจึงจดทะเบียนรับรองฐานะการเป็นภรรยาให้เธอโดยไม่ได้สมรสกันอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เธออยู่ในฐานะที่ได้รับการคุ้มครองแบบพลเมืองอเมริกัน แต่เพื่อนฝูงที่อยู่ในแวดวงของเธอก็ไม่ได้โชคดีไปทั้งหมด ทอมัส เพน ซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนการปฏิวัติด้วยซ้ำยังถูกจับกุมต่อมาความเบื่อหน่ายกับช่วงเวลาที่วุลสโตนคราฟต์ต้องติดพันกับการเลี้ยงลูก อิมเลย์จึงละทิ้งทั้งแม่ทั้งลูกกลับกรุงลอนดอนไปในขณะที่ภาวะการเมืองในฝรั่งเศสกำลังปั่นป่วน

 เมื่อวุลสโตนคราฟต์แน่ใจว่าถูกทอดทิ้งอยู่ที่ฝรั่งเศส เธอจึงเดินทางกลับกรุงลอนดอนเพื่อตามหาอิมเลย์ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๕ และเมื่อถูกเขาปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยเธอพยายามฆ่าตัวตายเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม แต่อิมเลย์ช่วยไว้ได้ทันและกลับมาใช้ชีวิตคู่กับเธออีกครั้ง หลังจากนั้นเธอเดินทางพร้อมบุตรสาวไปสแกนดิเนเวียเป็นเวลา ๕ เดือน เพื่อกอบกู้ธุรกิจบางอย่างของอิมเลย์ โดยหวังว่าจะช่วยให้เธอชนะใจอิมเลย์อีกครั้ง ซึ่งจากการเดินทางนี้วุลสโตนคราฟต์ได้เขียนเล่าการเดินทางในผลงานชื่อ Letters Written During a Short Residence in Sweden, Norway and Denmark ซึ่งเป็นหนังสือที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักกว้างขวางในทศวรรษ ๑๗๙๐ แต่เมื่อกลับมากรุงลอนดอนก็พบว่าอิมเลย์ยังคงนอกใจเธอ วุลสโตนคราฟต์จึงพยายามฆ่าตัวตายเป็นครั้งที่ ๒ ในค่ำคืนที่ฝนกำลังตก เมื่อเสื้อผ้าของเธอเปียกชุ่ม เธอก็กระโดดจากสะพานพัตนีย์ (Putney Bridge) ลงในแม่น้ำเทมส์ (Thames) แต่โชคดีมีคนพายเรือช่วยไว้ได้วุลสโตนคราฟต์ได้เลิกรากับอิมเลย์อย่างเด็ดขาดในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๖ หลังจากค่อย ๆ ฟื้นตัวจากภาวะจิตใจที่ถูกทอดทิ้ง วุลสโตนคราฟต์ก็ได้กลับคืนสู่ชีวิตนักเขียนและวงการวรรณกรรมซึ่งทำให้เธอได้พบกับก็อดวินอีกครั้งหนึ่งในเดือนต่อมา คราวนี้ทั้งคู่ตกหลุมรักกันภายในฤดูร้อนปีนั้น

 ก็อดวินเป็นผู้หนึ่งที่วางแนวคิดปรัชญาอนาธิปไตยและเป็นผู้เขียนบทความประจำให้แก่วารสาร Analytical Review ที่วุลสโตนคราฟต์ช่วยจอห์นสันพิมพ์เผยแพร่ ก็อดวินประทับใจงานเขียนเล่าเรื่องการเดินทางไปสแกนดิเนเวียของเธอที่แสดงความชื่นชมธรรมชาติ ความนึกคิดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่แตกต่างและการเรียบเรียงเรื่องเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะของผู้คนที่เธอได้ไปพบปะจนถึงขนาดที่ก็อดวินกล่าวว่าเป็นหนังสือที่ทำให้เขาหลงรักผู้ประพันธ์ ทั้งสองมีความเห็นพ้องกันเกี่ยวกับการสมรสว่าเป็นเรื่องของการกดขี่ การวางอำนาจ ผู้หญิงจะสูญเสียสถานะทางกฎหมายของตน และกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสามี ดังนั้นการสมรสจึงเป็นเรื่องทางกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการมีคนอยู่เคียงข้างกันอย่างรักใคร่ แต่เมื่อวุลสโตนคราฟต์ตั้งครรภ์ ทั้งคู่ก็จำต้องแต่งงานกันในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๗ ที่โบสถ์เซนต์แพงครัส (St. Pancras) จนทำให้เรื่องเปิดเผยขึ้นมาว่าเธอไม่ได้สมรสอย่างเป็นทางการกับอิมเลย์และทำให้เพื่อนฝูงหลายคนเลิกคบหาสมาคมกับทั้งคู่ก็อดวินเองก็ถูกตำหนิจากการที่เคยเขียนสนับสนุนให้เลิกล้มความคิดเรื่องการแต่งงานในงานเขียนเชิงปรัชญาเรื่อง Political Justice

 คู่สมรสใหม่ย้ายเข้าไปอยู่ย่านโซเมอร์สทาวน์ (Somers Town) กลางกรุงลอนดอน โดยอยู่ในบ้านที่สร้างติดกันซึ่งเรียกว่า โพลีกอน (Polygon) เพื่อที่แต่ละฝ่ายจะได้มีความเป็นอิสระในการเขียนผลงานต่อไป ในวันที่๓๐สิงหาคมแมรีวุลสโตนคราฟต์ก็อดวิน (Mary Wollstonecraft Godwin) บุตรสาวคนที่ ๒ ของเธอก็ถือกำเนิดขึ้น แต่การที่รกเด็กยังติดค้างอยู่ในครรภ์ของวุลสโตนคราฟต์ แพทย์จึงพยายามเอาออกแต่เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต (septicimia) แมรีวุลสโตนคราฟต์เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๗ หลังจากคลอดบุตรสาวได้เพียง ๑๑ วัน ขณะอายุ ๓๘ ปี พิธีศพของเธอจัดขึ้นที่สุสานโอลด์เซนต์แพงครัส (Old Saint Pancras Churchyard) ป้ายเหนือหลุมศพมีคำจารึกว่า ผู้ประพันธ์เรื่อง A Vindication of the Rights of Woman ภายหลังเซอร์เพอร์ซี ฟลอเรนซ์ เชลลีย์ (Percy Florence Shelley) หลานชายได้ย้ายศพของเธอไปไว้ที่โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ในบอร์นมัท (Bournemouth)

 ใน ค.ศ. ๑๗๙๘ก็อดวินซึ่งแทบหัวใจสลายกับการจากไปอย่างกะทันหันของภรรยาได้จัดพิมพ์หนังสือชุดรวมผลงานของเธอในชื่อ The Posthumous Works รวม ๔ เล่มออกเผยแพร่พร้อมๆกับผลงานของเขาเรื่อง Memoirs of the Author of A Vindication of the Rights of Woman ที่ว่าด้วยความทรงจำของก็อดวินเกี่ยวกับวุลสโตนคราฟต์อย่างจริงใจ การบรรยายเรื่องราวชีวิตของภรรยาอย่างเปิดเผยทั้งเรื่องความรักการถูกอิมเลย์ทรยศ กำเนิดของแฟนนีที่เป็นบุตรนอกสมรสการพยายามฆ่าตัวตายถึง๒ครั้งเพราะไม่สามารถทำใจได้กับการนอกใจเธอของอิมเลย์ รายละเอียดในชีวิตของเธอเช่นนี้ทำให้บรรดานักคิดและนักเขียนจำนวนมากแทบจะไม่สนใจชื่อของวุลสโตนคราฟต์อีกเลย หลายคนตกใจกับการเปิดเผยเรื่องราวที่ว่าด้วยการพยายามปลิดชีวิตตน ชีวิตรักที่ผิดแผกจากจารีตและการตั้งครรภ์นอกสมรสขณะเดียวกันก็มีคนวิจารณ์งานเขียนของเธออย่างเผ็ดร้อนและเห็นว่าผู้หญิงดี ๆ จะไม่อ่านผลงานพวกนั้น ดังนั้นความอาลัยรักภรรยาและความจริงใจในการเสนอเรื่องราวกลับทำให้ความคิดอ่านที่แสดงภูมิปัญญาของวุลสโตนคราฟต์ถูกมองข้ามไปเป็นเวลานาน

 อย่างไรก็ตาม ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิออกเสียงทางการเมือง งานของเธอก็ได้เริ่มเป็นที่รับรู้กันบ้าง มิลลิเซนต์ การ์เร็ตต์ ฟอว์เซตต์ (Millicent Garrett Fawcett)* ประธานสหภาพสมาคมเพื่อสิทธิเลือกตั้งของสตรีแห่งชาติ (National Union of Women’s Suffrage Societies) เขียนคำนำของ A Vindication of the Rights of Woman ฉบับพิมพ์ ค.ศ. ๑๘๙๒ ในโอกาสครบ ๑๐๐ ปีของงานเขียนชิ้นนี้ ซึ่งช่วยปัดเป่าความทรงจำด้านลบของผู้คนเกี่ยวกับวุลสโตนคราฟต์ไปได้บ้าง และกล่าวว่าเธอคือบรรพสตรีแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของสตรี และใน ค.ศ. ๑๘๙๘ เรื่องของวุลสโตนคราฟต์ก็ได้เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกด้วย แต่เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเกิดขบวนการคตินิยมสิทธิสตรี (feminist movement) แบบในปัจจุบัน เสียงประณามวิถีชีวิตของวุลสโตนคราฟต์ก็ยังได้ยินกันอยู่จนกระทั่งทศวรรษ ๑๙๘๐ และ ๑๙๙๐ ภาพลักษณ์ใหม่ของวุลสโตนคราฟต์จึงได้ปรากฏขึ้นในหมู่ปัญญาชนที่อภิปรายเกี่ยวกับประเด็นความมีเหตุมีผล (sensibility) เศรษฐศาสตร์และทฤษฎีทางการเมือง และสาระของงานเขียนเรื่องA Vindication of the Rights of Woman จึงได้รับการวิเคราะห์อย่างจริงจัง

 A Vindication of the Rights of Woman ทำให้แมรี วุลสโตนคราฟต์ได้รับการเรียกขานว่าเป็นผู้หญิงอังกฤษคนแรกแห่งคตินิยมสิทธิสตรี (feminism) ถือเป็นงานเขียนคลาสสิกเกี่ยวกับสิทธิสตรีและไม่อาจถูกมองข้ามไปสำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ด้านนี้วุลสโตนคราฟต์เสนอว่าผู้หญิงควรจะได้สิทธิเหมือนผู้ชายเพราะต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เธอโจมตีนักคิดอย่างจอห์น เกรกอรี (John Gregory) เจมส์ ฟอร์ไดซ์ (James Fordyce) และชอง ชาก รูโซ (Jean Jacques Rousseau) โดยเฉพาะคนหลังสุดที่เขียนผลงานเรื่อง Emile นอกจากไม่สนใจเรื่องการให้การศึกษาแก่สตรีแล้วยังกล่าวด้วยว่าผู้หญิงพึงได้รับการศึกษาเพียงเพื่อสนองความสุขของผู้ชาย วุลสโตนคราฟต์ยืนกรานว่าการที่ผู้หญิงสมัยเธอดูเหลวไหลและผิวเผิน โดยเธอใช้คำว่า ‘toys’ หรือ ‘spaniels’ หาใช่เพราะมีความบกพร่องทางธรรมชาติแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นเพราะผู้ชายปฏิเสธไม่ให้ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษา หากได้รับการศึกษาเหมือนและร่วมกันกับผู้ชาย (coeducation) ผู้หญิงก็จะเป็นคู่คิด ภรรยา และมารดาที่ดี ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญเพราะผู้หญิงเป็นผู้อบรมบุตรธิดา ซึ่งในที่สุดย่อมเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศชาตินอกจากนี้ ผู้หญิงควรจะได้รับการสอนทักษะต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถเลี้ยงตนเองและบุตรได้ยามเป็นม่ายหรือผู้หญิงจะได้ไม่จำเป็นต้องสมรสหรือสมรสใหม่เพราะความจำเป็นทางการเงิน อาชีพผดุงครรภ์ก็ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้หญิง และผู้หญิงควรเป็นแพทย์ได้ เธอยังตำหนิวัฒนธรรมที่สอนผู้หญิงตั้งแต่เด็กให้คำนึงแต่ความสวยงามของตน หรือสังคมที่เห็นว่าสตรีเป็นเพียงอาภรณ์หรือเครื่องประดับในสังคม หรือเป็นเพียงทรัพย์สินที่รอการซื้อขายในตลาดสมรสเวอร์จิเนีย วุลฟ์ (Virginia Woolf) นักเขียนเพื่อสิทธิสตรีในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ สรรเสริญทั้งชีวิตและผลงานของวุลสโตนคราฟต์ โดยกล่าวว่าวุลสโตนคราฟต์เสนอข้อคิดและทำการทดลอง สังคมยังคงได้ยินเสียงของเธอและรู้สึกถึงอิทธิพลของเธอ

 วิลเลียม ก็อดวินเลี้ยงดูบุตรสาวทั้ง ๒ คนของวุลสโตนคราฟต์ ทั้งแฟนนี อิมเลย์ และแมรี ก็อดวินบุตรสาวคนหลังซึ่งเกิดกับเขานั้นเมื่อเติบโตเป็นสาวรุ่น อายุ ๑๖ ปี ได้คบหาอย่างสนิทสนมกับเพอร์ซี บิสช์ เชลลีย์ (Percy Bysshe Shelley) กวีเอกชื่อเสียงโด่งดังที่สมรสแล้วและเป็นผู้ที่เลื่อมใสความเป็นนักคิดของก็อดวิน ทั้งคู่ซึ่งมีความสัมพันธ์กันเข้าสู่การสมรสหลังจากแฮร์เรียต เวสต์บรุก (Harriet Westbrook) ภรรยาของเชลลีย์ปลิดชีพตนเองด้วยการจมน้ำในทะเลสาบในไฮด์พาร์ก (Hyde Park) ใน ค.ศ. ๑๘๑๖ แมรีมีผลงานเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในชื่อ แมรี วุลสโตนคราฟต์เชลลีย์ (Mary Wollstonecraft Shelley) ผู้ประพันธ์เรื่อง Frankenstein หรือ The Modern Prometheus ซึ่งประสบความสำเร็จทันทีที่ปรากฏสู่สาธารณชนใน ค.ศ. ๑๘๑๘ ด้วยวัยเพียง ๒๑ ปี.



คำตั้ง
Wollstonecraft, Mary
คำเทียบ
นางแมรี วุลสโตนคราฟต์
คำสำคัญ
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- ตาเลรอง-เปรีกอร์, ชาร์ล โมริซ เดอ
- เพน, ทอมัส
- ฟอว์เซตต์, มิลลิเซนต์ การ์เร็ตต์
- วุลสโตนคราฟต์, แมรี
- เวลส์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1759–1797
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๐๒–๒๓๔๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-